งานบริหารนิติบุคคลที่อยู่อาศัย เรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ
ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมานิยมอยู่อาศัยในโครงการบ้านจัดสรรหรืออาคารชุด เพราะมีระบบการจัดการในรูปแบบของนิติบุคคลที่อำนวยความสะดวกและดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ภายในโครงการ อีกทั้งยังมีความอุ่นใจในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งการบริหารงานนิติบุคคลที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากฝ่ายจัดการฯ ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหน้างาน ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย รักษา และเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้แก่อาคารชุดนั้นๆ แล้ว บุคคลที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลหลักที่มีอำนาจในการบริหารงานที่แท้จริงของอาคารชุดนั้น คือคณะกรรมการนิติบุคคลฯ เพราะเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารงานที่แท้จริง เนื่องจากคณะกรรมการฯ เป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแทนลูกบ้านทั้งหมด แต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม จุดประสงค์โดยรวมก็เพื่อพิทักษ์รักษาสิทธิ์ของเจ้าของร่วมทุกท่านอย่างเป็นธรรมและให้เกิดประโยชน์ในการใช้เงินส่วนกลางมากที่สุด เช่น เป็นตัวแทนในการตัดสินใจในการว่าจ้างคู่สัญญาต่างๆ, การพิจารณาเลือกคู่สัญญาในงานดูแล, ซ่อมแซมปรับปรุงงานระบบต่างๆ ที่มีมูลค่า,พิจารณาในเรื่องของเงินฝากธนาคารของนิติบุคคลฯ รวมทั้งการพิจารณาเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อาคารชุดในด้านอื่น ๆ เช่นการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ลูกบ้าน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ฝ่ายจัดการฯ หรือผู้จัดการนิติบุคคลฯ เองไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการได้ (เว้นแต่จะเป็นกรณีฉุกเฉินที่รอมติจากคณะกรรมการฯไม่ได้)
ขอยกตัวอย่างของนิติบุคคลอาคารชุดบางแห่งที่เจ้าของร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นกรรมการนิติบุคคล ปล่อยให้กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้ามาตั้งกรรมการ โดยการเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเอง ซึ่งหากอาคารชุดหรือหมู่บ้านแห่งใดเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีเจ้าของร่วมไม่น้อยเลยทีเดียวที่ไม่เคยเข้าร่วมประชุมสมาชิกหมู่บ้าน ไม่เคยถามหารายงานการประชุมในแต่ละรอบ และก็ทำหน้าที่คอยจ่ายค่าส่วนกลางที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามหลายๆ ท่านอาจคิดว่าการคอร์รัปชั่นในนิติบุคคลไม่ได้เกิดขึ้นง่ายดายขนาดนั้น เพราะหากเกิดกรณีคณะกรรมการนิติบุคคลกระทำการไม่เหมาะสม เจ้าของร่วมสามารถลงมติถอดถอน โดยนำวาระเสนอลงมติในที่ประชุมใหญ่ฯ ได้ แต่ในการประชุมคณะกรรมการฯ เจ้าของร่วมทั่วไปจะมีสิทธิเพียงรับทราบข้อมูลจากรายงานประชุมฯ ที่ฝ่ายจัดการฯ ประชาสัมพันธ์ หรือหากมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมฯ ก็ทำได้เพียงแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะเท่านั้น ดังนั้นการสมัครเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลฯจึงมีข้อได้เปรียบค่อนข้างมาก
การสมัครเป็นคณะกรรมการนิติบุคคล จึงช่วยแก้ไขปัญหาหลายอย่าง และหากคณะกรรมการฯ มีความชำนาญในหลายสาขาอาชีพ ที่เป็นประโยชน์กับนิติบุคคลฯ จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้อีกมาก เช่น นาย ก. มีความรู้ความชำนาญ ด้านการเงิน, นาย ข. มีความชำนาญด้านงานระบบและวิศวกรรม, นส. ค. ถนัดด้านงานกิจกรรม, นาย ง มีความกว้างขวาง รู้จักหน่วยงานราชการต่างๆ, นาย จ มีประสบการณ์งานจัดซื้อจัดจ้าง รู้จักบริษัทที่มีกิจการเกี่ยวข้องกับงานที่นิติบุคคลต้องใช้บริการอยู่เป็นประจำ หรือนาย อ. เป็นนักกฏหมาย สามารถให้คำแนะนำการดำเนินการต่างๆ ของนิติบุคคลฯตามกฏหมาย ได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น และนอกจากความรู้ความชำนาญของคณะกรรมการฯ สิ่งที่สำคัญที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น คือทัศนคติ ซึ่งหากกรรมการท่านไหน ขาดทัศนคติในการบริหารงานที่ดี ถึงจะมีความสามารถเพียงใด ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว อีกทั้งยังอาจสร้างความแตกร้าวระหว่างคณะกรรมการฯ กันเอง รวมไปถึงฝ่ายจัดการฯ ก็ควรมีทัศนคติในการบริหารที่ดีเช่นกัน ด้วยการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความเป็นกลาง รับฟังความคิดเห็นผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ตั้งแง่ และไม่มีอคติ ในการทำงาน รู้จักสร้างความสามัคคี และสร้างกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน มีจริยธรรม และบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใส
ตอนนี้เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเริ่มคิดหันกลับไปใส่ใจกับงานบริหารของนิติบุคคลที่หมู่บ้านหรืออาคารชุดของตนเองแล้ว ซึ่งนิติบุคคลบางแห่งที่มีกรรมการที่มีประสิทธิภาพร่วมกันบริหาร สามารถดูแลตัวอาคารให้ดูดีอยู่เสมอ ดูและระบบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอาจจะนำเงินกองทุนไปบริหารอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับอาคารชุดหรือหมู่บ้านแห่งนั้นได้อย่างมากค่ะ
ข้อมูลจาก : ttps://www.plus.co.th